ศาสนพิธี

          ศาสนพิธีที่สัมพันธ์กับสังคมไทย
ศาสนพิธี คือ พิธีกรรมทางศาสนาของชาวชนชาตินั้น ๆ ที่ได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดต่อๆ กันมาจนเป็นประเพณี ที่มีพระสงฆ์เข้าไปเกี่ยวข้องตลอดพิธี เพราะสิ่งที่สำคัญที่ชาวชนชาตินั้นๆ โดยเฉพาะพุทธศาสนาพระสงฆ์จะเข้าเป็นหนึ่งในพิธีกรรมเสมอไม่ว่าจะเป็นงานมงคลหรืออวมงคล โดยเฉพาะงานอวมงคลนี้จะนิมนต์พระสงฆ์มาเพื่อเป็นสื่อในการเชื่อมโยงระหว่างวิญญาณกับโลกมนุษย์นั่นเอง และถือเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนให้มั่นคงเพื่อก่อสร้างบุญกุศลต่อดวงวิญญาณที่อุทิศให้ต่อไป           
งานมงคล คือ งานพิธีกรรมที่นิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล เช่น งานตรุษจีน งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
งานอวมงคล คือ งานพิธีกรรมที่นิมนต์พระมาสวดพระพุทธมนต์เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณที่ตั้งใจอุทิศให้นั้นเอง เช่น เทศกาลเช็งเม้ง พิธีเซ่นข้าว เป็นต้น    ในที่นี้จะขอกล่าวถึง งานที่เป็นมงคลก่อน คือ งานตรุษจีน การขึ้นบ้านใหม่                                  
      งานตรุษจีน           
งานตรุษจีน หรือเรียกกันว่า ประเพณีตรุษจีน (ขึ้นปีใหม่) นั้นถือได้ว่ามีอิทธิพล อย่างมากกับชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นชาวพื้นบ้าน พระสงฆ์ หรือเจ้าขุนมูลนายที่มีเชื้อสายชาวจีน วันนี้จะถือเป็นวันสำคัญยิ่ง ตามลัทธิประเพณีของชาวจีนแต่เก่าก่อนว่า ถึงวันนี้แล้วจะไม่มีการค้าขายใดๆ ทั้งสิ้น หยุดจากการทำงานหนักตลอดทั้งปี แล้วพักผ่อนให้เต็มที่ คนที่พลัดบ้านมาทำงานยังต่างประเทศ ก็กลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ส่วนคนที่ตั้งรกรากปักฐานอยู่ที่ประเทศไทยแล้วก็จำจะปิดร้าน ไปพักผ่อนกันตามจังหวัดต่าง ๆ หรือไปหาญาติที่ต่างจังหวัดกันทั้งครอบครัว และก่อนจะถึงวันตรุษจีน จริง ๆ นั้นทุกคนจะมาทำความสะอาดบ้านเพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านของตนเอง ตามความเชื่อว่า จะเป็นการส่งเทพเจ้ามาที่คุ้มครองครอบครัวของตนอยู่และเพื่อรับพรในวันปีใหม่จีน ให้เงินทองไหลมาเทมาด้วย สิ่งที่สำคัญเห็นกันเป็นธรรมเนียมคือเวลาใครมาเยี่ยมเยือนก็จะมีอังเปา (เงินใส่ซอง) ให้เป็นขวัญถุง และเป็นสิริมงคลแก่ตน เป็นการบริจาคทานด้วย นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ย่านเยาวราชในเมืองไทย ถ้าจะกล่าวถึงตรุษแท้ ๆ มีอยู่ ๔ วัน
           วันที่ ๑ เป็นวันส่งเจ้า คนจีนถือว่า ทุกครอบครัวจะมีเจ้าคอยคุ้มครองรักษาอยู่ พอวันที่หนึ่งของปีใหม่ทุกปี เจ้าประจำครอบครัวจะต้องขึ้นไปสวรรค์ เพื่อเฝ้าพระอิศวร นำความดีความชอบของครอบครัวนั้น ๆ ไปกราบทูลให้ทรงทราบ ๖ วัน
           วันที่ ๒ เป็นวันจ่าย คนจีนจะไปซื้อของที่จำเป็นในการไหว้ เช่น กระดาษเงิน กระดาษทอง ขนม เป็ด ไก่ หมู ผลไม้และดอกไม้ธูปเทียน ผลไม้ส่วนมากมักเป็นพวกส้มจีน เพราะชาวจีนถือว่าส้มเป็นผลไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นมงคล
           วันที่ ๓ เป็นวันไหว้ จะเป็นวันที่ทำพิธีไหว้เจ้า ส่วนมากไปไหว้กันที่ศาลเจ้า ส่วนการไหว้ตามบ้านเรือนหรือหน้าร้านนั้นเป็นการไหว้ผีไม่มีญาติ เจ้าก็มีอยู่สองประเภท คือ เจ้าประจำบ้าน และ เจ้าประจำศาล ส่วนเจ้าประจำศาลยังมีอีก ๒ ประเภท คือ เจ้าที่มาจากสวรรค์ และเจ้าที่เกิดจากวิญญาณของคนสำคัญ ๆ ในท้องถิ่นนั้น ๆ ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว เรื่องการจัดประทัดนั้น ตามประเพณีเดิม จุดเพื่อไล่ผีที่จะมาทำร้าย แต่ภายหลังความนิยมเลยกลับกัน คือ ใช้จุดประทัดเพื่อเป็นเกียรติ เช่น การต้อนรับคนสำคัญ ๆ เพื่อส่งเทพเจ้าสู่สวรรค์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
           วันที่ ๔ เป็นวันถือ เป็นวันถือเคล็ดเกี่ยวกับโชคลาง เช่น
๑.ถือไม่พูดคำหยาบตลอดวันนั้น เพราะถือว่าถ้าใครพูดคำหยาบในวันถือแล้ว จะ    ถูกคนดูหมิ่นตลอดทั้งปี
๒.ถือไม่กินน้ำข้าว เพราะถ้าใครกินน้ำข้าวในวันถือปีนั้นไปไหน ๆ จะเจอฝนกลางทาง 
๓.ถือไม่กวาดบ้าน เพราะจะทำให้เก็บเงินไม่อยู่ตลอดปี
๔.ถือไม่ทวงหนี้ เพราะจะทำให้ขาดแคลน 
  งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่  
พอกล่าวถึง งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่นี้ ให้สันนิษฐานได้เลยว่า เป็นประเพณีของชาวพุทธไทยที่ได้จัดทำขึ้นมาแต่สมัยปู่ย่าตาทวดแล้ว เป็นประเพณีสืบทอดต่อ ๆ กันมาว่า เมื่อขึ้นบ้านใหม่ทุกคราวไป ให้นิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่บ้าน บางครั้งปัจจุบันนี้ก็มีการเจิมบ้านด้วยซ้ำไป
แต่รู้ ๆ กันอยู่ว่าชาวจีน ชาวญวน ได้อพยพเข้ามาในแผ่นดินไทยเป็นระยะเวลานานพอสมควร สิ่งไหนที่ชาวไทยพุทธนับถือและเป็นสิ่งที่ดีไม่ขัดต่อศีลธรรมประเพณีอันดีงาน ชาวจีน ญวนก็ได้ยึดตามแบบนั้นให้สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ซึ่งการขึ้นบ้านใหม่ของชาวจีนนั้น ขอสรุปพอเป็นสังเขปดังนี้
เมื่อถึงกำหนดเวลาแล้ว เจ้าของบ้านจะมานิมนต์พระสงฆ์ญวน พระสงฆ์จีน ไปเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้านพร้อมกับฉันภัตตาหารเพลด้วย พอถึงที่บ้านแล้วพระสงฆ์ก็เริ่มประกอบพิธีทำน้ำพระพุทธมนต์ ด้วยบทสวดทำวัตรเช้า จนถึงบทสวดมาฮา หลังจากนั้นพระสงฆ์จะฉันเพล และเสร็จแล้วจะมีพระสงฆ์ที่เป็นประธานขึ้นบทสวดชยันโต(ญวน) คือ มนต์ต๊ากโตหนิ่มฯ แล้วประธานสงฆ์นั้นก็ได้นำน้ำพระพุทธมนต์ไปรดทุกมุมของบ้าน และเจิมบ้านเพื่อความปัดเป่าทุกโศกโรคภัยต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและลูกหลานต่อไป หลังเสร็จจากนั้น พระสงฆ์จะให้พร (อนุโมทนาบุญ) แก่เจ้าภาพ เป็นอันเสร็จพิธีขึ้นบ้านใหม่ของชาวจีน ซึ่งเป็นพิธีสั้นแต่เต็มไปด้วยความขลัง ส่วนใหญ่จะไม่เกินเที่ยง ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่