พระพุทธเจ้าฝ่ายมหายาน

พระไตรรัตนะพุทธเจ้า (三寳佛)




พระอมิตาภะพุทธะ
阿彌陀佛, 彌陀如來
अमिताभबुद्ध – Amitabha Buddha

          พระอมิตาภะพุทธเจ้า (ออมีท้อฮุก หรือ อามีท้อฮุดโจ๊ว) นั้นได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องของพระธยานิพุทธเจ้าในแบบวัชรนิกาย โดยในรูปแบบนี้ถือว่าพระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่ง พระธรรมกาย          พระอมิตาภะพุทธเจ้า แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้มีแสงรัศมีเปล่งประภาสออกมาโดยประมาณมิได้ (
無量光佛, 無邊光佛) ทรงมีอีกพระนามคือ พระอมิตายุพุทธเจ้า ที่แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้มีอายุขัยยาวนานไม่มีประมาณ (無量壽佛)
          แต่สาธุชนนิยมเอ่ยพระนามของพระองค์แบบทับศัพท์ว่า ออมีท้อฮุก (
阿彌陀佛) อันหมายถึง พระอมิตาพุทธเจ้านั่นเอง ซึ่งคำว่า อมิตาแปลว่า มากมายเกินกว่าจะประมาณค่า เข้าใจว่าเป็นการเรียกขานพระนามของพระพุทธองค์ในความหมายทั้ง 2 คือ
1.             ทรงมีแสงรัศมีเจิดจรัสมากมายเกินกว่าที่จะประมาณได้
          2. ทรงมีอายุขัยยาวนานมากมายเกินกว่าที่จะประมาณได้
วันคล้ายวันพุทธสมภพ ของพระอมิตาภะพุทธเจ้า คือ วันที่ 17 เดือน 11
          พระสูตรของมหายานกล่าวว่า หากผู้ใดภาวนาพระนามของพระองค์อย่างแน่วแน่ตลอดเวลา 1 วันจนถึง 7 วัน 7 คืนได้ เมื่อเวลาใกล้จะสิ้นใจพระอมิตาภะพุทธเจ้าพร้อมด้วยเหล่าพระอริยเจ้า ก็จะเสด็จมารับดวงวิญญาณของผู้นั้นไปเกิดยังดินแดนสุขาวดีอันสุขารมณ์”           อันแดนสุขาวดี (極樂世界) นี้ เป็นชื่อเฉพาะของพุทธเกษตร หรือ ดินแดน เฉพาะของพระอมิตาภะพุทธเจ้า ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของโลกเรานี่เอง
          ในคัมภีร์มหาสุขาวดีวยุหสูตร กล่าวว่า ครั้นหนึ่งเมื่อหลายอสงไขยกัลป์มาแล้ว มีพระภิกษุรุ)หนึ่งนามว่า ธรรมการะได้ฟังพระธรรมเทศนาเฉพาะพระพักตร์พระโลเกศวร แล้วเกิดความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะขอเกิดเป็นพระพุทธเจ้าบ้าง จึงได้กราบทูลให้พระองค์ทรงแสดงหลักธรรมอันจะนำไปสู่การเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสและบริบูรณ์ด้วยธรรมอันประเสริฐ          พระตถาคตเจ้าทรงใช้เวลาแสดงธรรมสั่งสอนพระภิกษุธรรมการอยู่เป็นเวลานานหลายปี หลังจากนั้นก็ทรงรับสั่งให้พระภิกษุธรรมการะ เริ่มลงมือปฏิบัติธรรมและเพ่งสมาธิไป ณ ดินแดนสุขาวดี ซึ่งเป็นพุทธเกษตรแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในอนาคตถึง 5 กัลป์
          ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าทำไม ดินแดนสุขาวดีพุทธเกษตร ของพระอมิตาภะพุทธเจ้านั้นจึงเป็นดินแดนที่ชาวพุทธนิกายมหายานให้ความสำคัญมาก และใฝ่ฝันอยากไปเกิดที่นั่น เพราะ เป็นที่สถิตของพระอมิตาภะพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ที่จะลงมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตนั่นเอง
          ในพระสูตรกล่าวว่า แดนสุขาวดีเป็นสถานที่สวยงามวิจิตรที่สุดยิ่งกว่าแห่งใดๆ ทั้งทศทิศ ผู้ที่ได้มาอุบัติยังพุทธเกษตรแห่งนี้จะเป็นผู้ปราศจากทุกข์ภัยทั้งปวง จะได้ฟังธรรมเทศนาจากพระอมิตาภะและพระมหาโพธิสัตว์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด จนดวงวิญญาณของเขาผู้นั้นได้สำเร็จมรรคผลเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วกลับมาจุติยังโลกมนุษย์เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์อื่นๆ ต่อไป
          การจะได้ไปเกิดยังแดนสุขาวดีนั้นก็ไม่ยาก เพียงแต่ระลึกถึงพระอมิตาภะพุทธเจ้าอยู่เสมอ โดยการสวดพระนามของพระองค์โดยสม่ำเสมอ ว่า นำ มอ ออ มี ท้อ ฮุก” (南無阿彌陀佛) และเพียรบำเพ็ญกุศลผลกรรมความดีงามทั้งปวง กตัญญูรู้คุณ ฯลฯ
          พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานมุ่งไปเกิดยังพุทธเกษตรของพระองค์ด้วย ความตั้งมั่นอันนี้ จะทำให้ได้ไปอุบัติยังแดนสุขาวดี ได้เสวยความสุขารมณ์ที่ละเอียดอ่อนยิ่งกว่าสวรรค์ชั้นพรหมโลก และแดนสุขาวดีนั้นก็มีความวิจิตรงดงามยิ่งกว่าที่ประทับของเหล่าเทวดาเสียอีก          คุณสมบัติของแดนพุทธเกษตรของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์นั้น ผู้ที่มีจิตมุ่งมั่นไปอุบัติ หากแม้นได้หมั่นเพียรบำเพ็ญจนได้ไปอุบัติสมปรารถนาแล้ว ก็จะเป็นผู้ที่ไม่ต้องหวนกลับมาสู่ภพภูมิเบื้องต่ำอีก          ซึ่งต่างกับการไปเกิดบนสวรรค์ชั้นกามภูมิ หรือ พรหมภูมิชั้นต่างๆ ที่หากสิ้นบุญเมื่อใดก็จะต้องหวนกลับมาสู่ภูมิเบื้องต่ำ เช่น มาเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นเดรัจฉานบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นสัตว์นรกบ้าง ตามแรงกรรมเฉพาะตน
          พระปฏิมา หรือ ภาพวาดของพระองค์จะประดิษฐานอยู่เบื้องขวาของพระศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตาภะพุทธเจ้าจะทรงมีปัทมบัลลังก์ (ที่ใส่ดอกบัว) อยู่บนพระหัตถ์ที่ประสานกันในท่าสมาธิ บางแห่งจะทรงแบพระหัตถ์ขวาออกมาเบื้องหน้าแสดงกิริยารับดวงวิญญาณของสรรพสัตว์ที่ประกอบบุญกุศล พร้อมกับระลึกถึงพระองค์เพื่อมาอุบัติ ณ ยังแดนสุขาวดี  




พระศรีศากยมุนีพุทธะ หรือ สิทธัตถโคตมะพุทธเจ้า
本師釋迦牟尼佛 , 释迦牟
शाक्यमुनिबुद्ध – Sakysmuni Buddha, सिद्धार्थ गौतमबुद्ध - Siddhattha Gotama Buddha

          พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า หรือ พระโคตมพุทธเจ้า (เซ็กเกียหม่อนี้ฮุก หรือ เสกเกียเหมานีฮุก หรือ สิกแกเหม่านี้ฮุดโจ๊ว)  โดยในรูปแบบนี้ถือว่าพระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่ง พระนิรมาณกาย
          พระศากยมุนีพุทธเจ้า ของทางฝ่ายมหายานออกเสียงพระนามทับศัพท์ว่า เสกเกีย หรือ สิกแก (釋迦) คำๆ นี้นั้นมากจากคำว่า ศากยะและ เหมานี (牟尼) ก็มาจากคำว่า มุนีนั่นเอง เมื่อรวมกันจึงหมายถึง พระศรีศากยมุนี ซึ่งก็คือ พระมหาสมณโคดมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน หรือ เจ้าชายสิทธัตถะ 
          ที่ประสูติในสวนลุมพินีวัน ประเทศอินเดีย (ปัจจุบันอยู่ในอาณาเขตของประเทศเนปาล) ตรัสรู้ใต้ร่มโพธิพฤกษ์ ริมแม่น้ำเนรัญชรา (พุทธคยา) และเสด็จดับขันธ์สู่ห้วงมหาปรินิพพานใต้ควงไม้สาละ ที่เมืองกุสินารา นั่นเอง วันคล้ายวันพุทธสมภพ ของพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า  คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (ไทย)  หรือชาวพุทธศาสนาในประเทศไทย เรียกว่า "วันวิสาขบูชา"
          ทรงเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวกันกับพระพุทธเจ้าของทางฝ่ายเถรวาทเรา  พระองค์นั้นทรงประกาศพระศาสนาเพื่อยังประโยชน์แก่เหล่าสรรพสัตว์ทั้งปวง
          ซึ่งพอจะสรุปคำสอนได้ว่า การงดการกระทำบาปทั้งปวง กระทำบุญกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ ธรรม 3 อย่างนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
          พระพุทธองค์ทรงยังประโยชน์และตรัสแสดงพระธรรมเทศนาแบ่งเป็น 3 หมวด หรือพระไตรปิฏกอันมี  
1.พระวินัยปิฏก  
2.พระอภิธรรมปิฏก
3.พระสุตตันตปิฏก (พระสูตร)
          แบ่งย่อยเป็นข้อธรรม 84,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นอุบายธรรมที่ใช้ขัดเกลาสรรพสัตว์ที่เหมาะสมแต่ละบุคคล
          พระศากยมุนีพุทธเจ้า ตามแบบมหายานโดยมากจะทรงถือดวงแก้วมณีที่พระหัตถ์ทั้งสอง ซึ่งจะวาดเป็นสีแดง บางที่ก็จะทรงอุ้มบาตรอันแสดงถึงการเป็นพระนิรมาณกาย ที่ยังต้องกินต้องอยู่เหมือนคนธรรมดา
          บางที่จะถือดวงแก้วเพียงพระหัตถ์เดียว ส่วนพระหัตถ์ขวาจะทรงท่ารัตนตรัยมุทรา หรือ ท่าประทานเทศนา หรือ ประทานพร



พระไภษัชยคุรุพุทธะ
หรือ พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต
藥師琉璃光如來, 藥師佛, 藥師佛, 薬師, 药师
भैषज्यगुरुबुद्ध – Bhaisajyaguru Buddha

          พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต หรือ พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า (เอี๊ยะซือฮุก หรือ ยกเหล่าซือฮุกโจ๊ว) เป็นพระพุทธเจ้าที่พบเฉพาะในนิกายมหายานเท่านั้น
วันคล้ายวันพุทธสมภพ ของพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาพุทธเจ้า คือ วันที่ 30 เดือน 9 จีน (แต่หากปีใดมีเพียง 29 วันก็ให้ถือเอาวันที่ 29 แทน)
          พระนามของพระองค์ หมายถึง พระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูแห่งยารักษาโรค ผู้มีรัศมีงดงามสีน้ำเงินดังไพฑูรย์ พระนามอื่นๆ ของท่านคือ พระไภษัชยคุรุตถาคต พระมหาแพทย์ราชาพุทธเจ้า พระมหาไภษัชยราชพุทธเจ้า ทรงเป็นที่นิยมนับถือในหมู่ชาวจีนและชาวทิเบต
          พระไภษัชยคุรุนั้นมีด้วยกัน 7 พระองค์ เป็นพระพุทธเจ้าทั้ง 7 ในที่นี้จะหมายถึง พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต เพียงพระองค์เดียว ไม่รวมอีก 6 พระองค์ที่เหลือ          กลุ่มพระไภษัชยคุรุนั้นจะมีด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นนิรมาณกายของพระพุทธเจ้าแห่งการรักษาทั้ง 7 พระองค์ กับ กลุ่มที่เป็นนิรมาณกายของพระพุทธเจ้าแห่งนพเคราะห์ โดยกลุ่มนี้จะมีพระไภษัชยคุรุ 7 พระองค์ บวกกับพระโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็นพระ 9 ดาวเคราะห์

          ในความเชื่อของชาวจีน รูปของพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต จะอยู่ในท่านั่งสมาธิ มีรัตนเจดีย์วางบนพระหัตถ์ ส่วนในความเชื่อของชาวทิเบต พระองค์มีกายสีน้ำเงินเข้ม นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาถือยาสมุนไพร (นิยมเป็นเห็นหลินจือ) พระหัตถ์ซ้ายถือบาตรวางบนพระเพลา ถือกันว่าทรงเป็นพระพุทธเจ้าที่สามารถรักษาโรคทางกาย และโรคทางกรรม ของสัตว์โลก          พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตนั้นเป็นที่นับถืออย่างแพร่หลายในหมู่ชาวพุทธมหายาน แต่ไม่มีนิกายเป็นของตนเองอย่างพระอมิตาภะพุทธเจ้า ทรงประทับอยู่ในพุทธเกษตรที่มีชื่อว่าศุทธิไวฑูรย์ ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายกับแดนสุขาวดีของพระอมิตาภะพุทธเจ้า           นอกจากนี้ในคัมภีร์พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาสัปตพุทธปูรวปณิธานสูตร กล่าวว่าทรงเป็นหนึ่งในพระไภษัชยคุรุทั้ง 7 มีพระโพธิสัตว์เป็นสาวก 2 องค์ คือ พระสูรยประภาโพธิสัตว์ และ พระจันทรประภาโพธิสัตว์           พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต ทางจีนจะแปลความหมายของพระองค์ว่า เอียะซือหยูไล (
藥師如來) หากจะแปลทับศัพท์ก็คือ ปีซาแซลิวลูเผกลิวลีปอลาพอ - ออลาแซแย” (鞞殺社窶嚕薜琉璃鉢喇婆喝囉闍也) เพราะถ้าหากจะแปลทับศัพท์อย่างนี้แล้ว ก็จะไม่อาจทราบได้เลยว่าพระนามนี้ คือ พระพุทธเจ้าพระองค์ใด          พระนามของพระองค์ มีความหมายว่า ไภษัชย () อันหมายถึง ยา, โอสถรักษาโรค          คุรุ () หมายถึง ครูอาจารย์, ผู้เชี่ยวชาญ, อาจารย์ทิพย์       ไวฑูรยะ (琉璃) คือ แก้วอัญมณีชนิดหนึ่ง มีสีน้ำเงินใส ไทยเรียกว่า ไพฑูรย์
          ประภา (
) คือ แสงรัศมีที่ส่องสว่าง           ตถาคต (如來) เป็นคำเรียก หมายถึง พระผู้เสด็จมาแล้วด้วยดีอย่างนั้น ซึ่งหมายถึงการเรียกขานพระพุทธเจ้า คล้ายๆ กับการเรียกว่าพระพุทธเจ้า () พระโลกนาถ (世尊) เป็นต้น          สรุปความหมายพระนามโดยรวมคือ พระตถาคตเจ้าผู้เป็นครูที่เชี่ยวชาญทางโอสถรักษาโรค ผู้มีแสงรัศมีเจิดจรัดเป็นประกายสีน้ำเงินบริสุทธิ์ประดุจแก้วไพฑูรย์”           พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตทรงมีพุทธเกษตรของพระองค์เองอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของโลกเราแห่งนี้ โดยพุทธเกษตรแห่งนี้มีชื่อว่า ศุทธิไวฑูรย์” (淨琉璃世界) อันจะอยู่ตรงกันข้ามกับพุทธเกษตรแดนสุขาวดีที่อยู่ทางทิศตะวันตก
          ในพระสูตรบรรยายว่าดินแดนของพระองค์นั้นมีความสวยงามอลังการและวิเศษ ไม่แพ้กับแดนสุขาวดี มีความเพียบพร้อมทุกประการมิแตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย ผู้ที่ไปอุบัติในพุทธเกษตรแห่งนี้ก็จะปราศจากความทุกข์ทรมานทั้งปวง ทั้งจะเป็นผู้มิเสื่อมถอยจากกุศลและภูมิธรรม จะได้บำเพ็ญตนสำเร็จเป็นพระโพธิสัตว์เพื่อกลับมาช่วยสรรพสัตว์ จนสำเร็จพระพุทธมรรคได้ ณ ศุทธิไวฑูรย์พุทธเกษตรแห่งนั้น
          การจะไปเกิดก็โดยการตั้งปณิธานอธิษฐานจิตต่อพระองค์ และประกอบกุศลกรรมบำเพ็ญธรรมดีงามเพื่อมุ่งไปเกิด พร้อมกับการภาวนาพระนามของพระองค์โดยสม่ำเสมอว่า ขอนอบน้อมแด่พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต เป็นจีนว่า      นำ มอ หยก ซือ ลิว ลี กวง ยู ไล (南無藥師琉璃光如來) หรือ ขอนอบน้อมแด่พระนิรันตรายจิรายุวัฒนาไภษัชยคุรุพุทธเจ้า เป็นจีนว่า นำ มอ เซียว ไจ เอียง ซิวหยก ซือ ฟู (南無消災延壽藥師佛)

          ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่หมั่นสวดภาวนา มีสุขภาพแข็งแรง อายุมั่นขวัญยืน ปลอดภัยจากโรคร้ายที่คอยเบียดเบียนทั้งโรคกรรมโรคปีศาจทั้งปวง ทำให้ได้สมหวังดังปรารถนาทุกประการ
          พระปฏิมาของพระองค์จะประดิษฐานทางเบื้องซ้ายของพระศากยมุนีพุทธเจ้า ทรงถือรัตนเจดีย์ หรือบาตรบรรจุทิพยโอสถ หรือ บ้างก็ถือแจกันในพระหัตถ์ที่ประสานกันในท่าสมาธิ          บางแห่งจะให้แบพระหัตถ์ขวาออกในกิริยารับดวงวิญญาณไปเกิด ธิเบตจะทรงถือต้นยาวิเศษชื่อ อคทะส่วนทางจีนนั้นจะทรงถือเห็ดหลินจือ ซึ่งชาวจีนโบราณเชื่อว่า เห็ดหลินจือเป็นของหายากที่สุดและเป็นยาอายุวัฒนะของเซียน          หากเป็นภาพวาดของธิเบตจะวาดพระวรกายของพระองค์เป็นสีน้ำเงินเข้ม และพระกริ่งที่นิยมกันแพร่หลายในประเทศไทยก็ได้แบบอย่างมาจากพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้านั่นเอง